Monday, 29 April 2024
ผศ. ดร.ประชา คุณธรรมดี

ปัญหาปลอม! ‘ใบกำกับภาษี - หนังสือรับรองราคาที่ดิน’ แก้ไขได้...ถ้าอยากจะแก้!! คอร์รัปชัน...ไหมครับท่าน ตอนที่ 9

ทุก ๆ ปี มาตรการทางภาษีที่ช่วยธุรกิจและผู้มีรายได้พึงประเมิน คือ การลดหย่อนภาษี ทั้งภาษีจากฐานการบริโภค การขาย หรือการทำธุรกิจ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ต้องให้ผู้ขอลดหย่อนจัดหาใบกำกับภาษี ในกรณีผู้บริโภคหากไม่ได้ขอใบกำกับภาษีก็ไม่ได้รับการลดหย่อนตามมูลค่าที่กฎหมายกำหนด ในกรณีของธุรกิจหากไม่ได้ขอใบกำกับภาษีก็จะมีปัญหาด้านการลงบัญชีต้นทุน และเกิดการตรวจสอบการทำธุรกิจ

เรื่องใบกำกับภาษีนั้น แท้จริงสามารถแยกได้ตั้งแต่ต้นทางที่ว่า ผู้ซื้อเป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นนิติบุคคล และทำให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ใบกำกับภาษีนั้นถูกต้อง ตรวจสอบได้ นอกจากนั้นภายใต้เทคโนโลยีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้โดยไม่ยากนัก การวางระบบใบกำกับภาษีนั้นจะช่วยให้ประเทศสามารถเก็บภาษีจากฐานการขายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและตรวจสอบได้ ที่สำคัญแก้ปัญหาการปลอมแปลงใบกำกับภาษีและการโกงภาษีเพื่อขอลดหย่อนได้พร้อม ๆ กัน

แม้ว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2560 เพิ่มความกรณีหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงการจ่ายภาษีตั้งแต่ 10,000,000 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือกรณีขอคืนภาษีโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ 2,000,000 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป ให้ถือว่าความผิดดังกล่าว เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่ออธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่ายความผิดมูลฐานส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แล้ว ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่การโกงภาษีทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้จำนวนมาก

>> กลโกงภาษีที่กรมสรรพากร และหน่วยงานที่ประกอบอาชีพกฎหมายธุรกิจได้สรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ดังนี้ 
ประเภทที่ 1 มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง ลักษณะเช่นนี้ ตั้งใจเปิดบริษัทเพื่อโกงภาษีโดยเฉพาะการขอคืนภาษีจากการส่งออก จากใบกำกับภาษีปลอม
ประเภทที่ 2 การขายใบกำกับภาษี ส่วนใหญ่ประกอบกิจการจริงมีรายรับจากการขายจริง แต่ผู้ซื้อรายย่อยไม่ขอใบกำกับภาษีทำให้เกิดช่องว่าง การขายใบกำกับภาษี 

ประเภทที่ 3 การปลอมใบกำกับภาษีของบริษัทที่มีชื่อเสียง ทำให้ยากต่อการตรวจสอบปกติ
ประเภทที่ 4 การจัดตั้งบริษัทหลาย ๆ ทอด ออกใบกำกับภาษีให้กันเอง แต่ในท้ายที่สุดจะเป็นบริษัทส่งออก เพื่อขอคืนภาษี
ประเภทที่ 5 การปลอมเอกสารโดยสำนักงานบัญชีหรือสับเปลี่ยนใบกำกับภาษี เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง เป็นต้น
ประเภทที่ 6 การออกใบกำกับภาษีโดยไม่ถูกกฎหมาย ฯลฯ

ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่าเกิดจากการออกใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง - ไม่ถูกคน ทั้งสิ้น!! 
ปัญหานี้แก้ไขได้โดยการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) และปรับระบบการออกใบกำกับภาษี ณ ที่จ่ายครับ นอกจากนั้น การพัฒนาระบบบัญชีที่สามารถประยุกต์เชื่อมต่อเพื่อส่งข้อมูลทางภาษีได้ก็จะช่วยผู้ประกอบการรายย่อยในการปฏิบัติให้ถูกต้องทางภาษีและลดผลกระทบจากความผิดพลาดและการตรวจสอบจากภาครัฐที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนในการประกอบธุรกิจ

“ปลอม - เท็จ”!! ระเบิดเวลา ‘สหกรณ์ออมทรัพย์’ คอร์รัปชัน...ไหมครับท่าน ตอนที่ 8

สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร อยู่ภายใต้กฎหมายสหกรณ์ มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รับผิดชอบทำหน้าที่ “นายทะเบียน” ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

ในด้านดี สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสถาบันการเงินที่เป็นการจัดสวัสดิการภายในให้กับหน่วยงาน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้สมาชิก ส่งเสริมการออม และเป็นแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยราคามิตรภาพให้แก่สมาชิก ในขณะที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าตลาดในการระดมเงินฝาก หรือจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับการฝากธนาคาร ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเกษียณอายุ

แม้ว่าในระยะหลังข่าวคราวของวงการสหกรณ์จะไม่สู้ดี เนื่องจากมีบางสหกรณ์ที่ไม่ทำหน้าที่ตามปรัชญาและอุดมการณ์ของสหกรณ์ จึงเกิดกรณีสลากกินแบ่งรัฐบาล กรณีคลองจั่น กรณีรถไฟ ซึ่งทั้งหมดพัวพันกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของคณะกรรมการดำเนินการ ส่วนกรณีทั่วไปที่ไม่เป็นข่าว เช่น การปลอมลายมือชื่อ การโกงของเจ้าหน้าที่ ความเสียหายยังจำกัดวง และสามารถแก้ไขได้ แต่ความน่าเชื่อถือของสหกรณ์นั้น ๆ จะลดลงไปเป็นลำดับ

ในบทบาทหนึ่งของสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้นั้น สหกรณ์มีบทบาทในการส่งเสริมและช่วยเหลือให้สมาชิกมีบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี สหกรณ์ส่วนใหญ่จึงมักให้สินเชื่อระยะยาวกับสมาชิกที่ซื้อหรือสร้างบ้าน เพื่อให้ผ่อนรายเดือนน้อย ๆ มีการสร้างฐานะและมีสวัสดิการที่ดีขึ้น

ในการกู้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินตามโครงการจัดสรรส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากราคาที่ดิน และการปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้เอกสารต่าง ๆ ถูกต้องตามกฎหมายสามารถนำไปยื่นกู้กับสถาบันการเงินได้ และการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยก็ทำให้สมาชิกสหกรณ์ที่มีเครดิตดี มีความสามารถชำระหนี้ ก็เลือกกู้กับสถาบันการเงินหรือธนาคารทั่วไป ในขณะที่สหกรณ์ส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยไม่ยืดหยุ่นนัก และบางแห่งมีอัตราเดียวที่สูงกว่าธนาคารทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ จะเห็นได้ว่า กรณีเช่นนี้จะก่อให้เกิดปัญหาคลาสสิกที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Adverse Selection หรือ การเลือกในทิศทางที่แย่

เรื่อง การเลือกในทิศทางที่แย่ รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ อธิบายไว้โดยใช้ตัวอย่างของระบบประกันภัยหรือประกันสุขภาพ ที่ว่า มีคนสุขภาพดีและคนป่วยอยู่ปนกัน หากบริษัทประกันเก็บเบี้ยประกันราคาเดียวจะทำให้มีแนวโน้มจะได้คนป่วยทำประกันมากกว่าคนสุขภาพดี แต่หากบริษัทประกันเก็บเบี้ยประกันตามความเสี่ยงทางสุขภาพหรือประวัติการขับรถ ก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหา การเลือกในทิศทางที่แย่ 

รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ

ดังนั้น สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ทำการปล่อยกู้นั้น จึงต้องคำนึงถึงปัญหาคลาสสิกนี้ เพราะมิเช่นนั้น การที่มีผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง ๆ รวมกันเป็นจำนวนมาก จะทำให้มีความเสี่ยงในการบริหารเงิน และต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญซึ่งกระทบต่อการจ่ายเงินปันผล

ผู้กำกับดูแลสหกรณ์ จึงเคร่งครัดในเรื่องการปล่อยกู้ตามวัตถุประสงค์ และให้กรรมการและฝ่ายจัดการที่เกี่ยวข้องคอยกวดขันการปล่อยกู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมถึงให้กรรมการคอยสอดส่องไม่ให้หลักประกันบกพร่อง โดยกำหนดเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการและฝ่ายจัดการ

วิเคราะห์ ‘โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล’ แนวส่งน้ำยวม - อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

ข้อสังเกตรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม บทที่ 9 การวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

สรรสาระ ประชาธรรม คราวนี้มาด้วยเรื่องร้อน ๆ ของประเทศที่ว่าด้วยการมีโครงการระดับ 7 หมื่นล้านบาท และใช้เครื่องมือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นใบผ่านทาง ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์จึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่ต้องชี้ประเด็นว่า ในบทที่ 9 การวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมนั้น มีข้อสังเกตสำคัญอะไรบ้างที่ ผู้รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการตัดสินใจใช้งบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาทนั้น แท้ที่จริงมีทางเลือกอื่น ๆ อีกหรือไม่อย่างไร

เรื่องมีอยู่ว่า กรมชลประทานว่าจ้างกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรจัดทำรายงาน EIA โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หลัก ๆ คือ ผันน้ำประมาณ 1.7 พันล้านลูกบาศก์เมตรมาเติมเขื่อนภูมิพลเพื่อนำน้ำดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากเขื่อนภูมิพลมีความจุเหลือในหน้าฝน 

แต่การผันน้ำนั้นต้องสร้างเขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ และระบบสายส่งไฟฟ้า ราคาโครงการรวมทั้งหมด 70,675 ล้านบาท ประกอบด้วย ราคาเขื่อนและระบบส่งน้ำ 65,485 ล้านบาท และราคาระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 5,190 ล้านบาท ดังนั้น ต้นทุนของโครงการประมาณ 7 หมื่นล้านบาท 

ในด้านต้นทุนนี้มีข้อสังเกตสำคัญ 2 ประการ คือ ข้อแรก ราคาที่ใช้เป็นเกณฑ์ราคาปี 2555 จากกรมบัญชีกลาง และ ข้อสอง ราคาระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จะไม่ถูกนำมาคิดในต้นทุนโครงการเพราะที่ปรึกษากล่าวว่า เป็นหน้าที่ของ กฟผ. 

สำหรับประโยชน์ของโครงการนั้น ที่ปรึกษา แบ่งเป็นการทำการเกษตรรูปแบบปัจจุบัน และการปรับปรุงการปลูกพืชฤดูแล้งตามความเหมาะสมของดิน โดยมีรายละเอียดผลประโยชน์คือ 
1.) ปริมาณน้ำผันเฉลี่ยปีละ 1.79 พันล้าน ลบ.ม. 
2.) ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร 1.49 พันล้าน ลบ.ม.ต่อปี 
3.) ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคและอุตสาหกรรม 300 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี 
4.) พื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 1.61 ล้านไร่ต่อปี
และ 5.) เพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล 417 ล้านหน่วยต่อปี ผลประโยชน์ของโครงการนั้น ที่ปรึกษาได้แจกแจงไว้ ดังนี้

ที่ปรึกษาได้แจกแจงไว้ในตารางที่ 1 ดังนี้
ตารางที่ 1 ผลประโยชน์ของโครงการ

ที่มา: บริษัทที่ปรึกษา

หมายเหตุ: 1.) กรณีที่ 1 การปลูกพืชฤดูแล้งในรูปแบบปัจจุบัน กรณีที่ 2 ปรับปรุงการปลูกพืชฤดูแล้งตามความเหมาะสมของดิน
2.) ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นในปีที่ 7 เป็นต้นไป

เมื่อที่ปรึกษาคำนวณโดยใช้ต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost-Benefit Analysis) จะได้ว่าโครงการนี้จะคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เมื่ออัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 8 ในกรณีที่ 1 

สำหรับกรณีที่ 2 นั้นคุ้มค่าทุกระดับอัตราดอกเบี้ย เพราะมีค่าผลประโยชน์สุทธิเป็นบวก มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่าอัตราดอกเบี้ย มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนมากกว่าหนึ่ง ตามตารางที่ 2

คอร์รัปชัน...ไหมครับท่าน ตอนที่ 7 ความยุติธรรมที่ล่าช้า ไม่ใช่ “แค่” ความไม่ยุติธรรม!

ภาษิตกฎหมายในภาษาอังกฤษที่ว่า Justice delayed is justice denied. หรือในภาษาฝรั่งเศส Justice différée est justice refusée เป็นหลักการพื้นฐานของสิทธิการเข้าถึงการพิจารณาคดีที่รวดเร็วและสิทธิอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้กระบวนการยุติธรรมเร็วขึ้น เช่น การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย แม้ว่าภาษิตดังกล่าวจะไม่มีที่มาแน่ชัดแต่เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม”

ในกฎบัตร Magna Carta ข้อ 40 ได้บัญญัติไว้ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ "อันว่าสิทธิก็ดี หรือความยุติธรรมก็ดีนั้น เราจักไม่ขายให้แก่ผู้ใด เราจักไม่เพิกเฉยหรือทำให้ล่าช้าต่อผู้ใด" (To no one will we sell, to no one will we refuse or delay, right or justice) หมายถึง สิทธิหรือความยุติธรรมนั้นจะต้องเที่ยงตรงเท่าเทียม ยิ่งไปกว่านั้นจะไม่ถูกละเลยหรือทำให้ล่าช้า

นอกจากนั้นในวิกีพีเดียได้ระบุว่า วอร์เรน อี. เบอร์เกอร์ (Warren E. Burger) ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ใน What's Wrong with the Courts: The Chief Justice Speaks Out ว่า 

"ศาลทั้งหลายจำเป็นต้องได้รับความเชื่อมั่น เพื่อจะได้ธำรงโครงสร้างแห่งเสรีภาพอันเป็นระเบียบเรียบร้อยของเสรีชน และความเชื่อมั่นประการนี้...อาจย่อยยับไปด้วยโทษสามประการ คือ การที่ผู้คนเริ่มเชื่อว่า ความไร้ประสิทธิภาพและความล่าช้าจะบั่นทอนคุณค่าของคำพิพากษา แม้เป็นคำพิพากษาอันเที่ยงธรรมก็ตาม ประการหนึ่ง การที่ผู้คนผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ในธุรกรรมเล็ก ๆ น้อยตามประสาชีวิตประจำวันเริ่มพากันเชื่อว่า ศาลจะไม่สามารถพิทักษ์สิทธิตามกฎหมายของพวกเขามิให้ถูกทำลายไปด้วยการฉ้อฉลและการเอื้อมไม่ถึง ประการหนึ่ง การที่ผู้คนตั้งต้นเชื่อว่า กฎหมายในความหมายอย่างกว้าง จะไม่บรรลุหน้าที่เบื้องต้นของมันในอันที่จะคุ้มครองพวกเขาและครอบครัวของพวกเขา ในบ้านของพวกเขา ในที่ทำงานของพวกเขา ตลอดจนบนถนนหนทางสาธารณะ อีกประการหนึ่ง" 

Warren E. Burger

ในประเทศไทย ความล่าช้าทั้งในกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาผู้เสียหาย มีให้เห็นโดยตลอดไม่นับเรื่องการบิดเบือนข้อกฎหมายและบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างเป็นกระบวนการ ความล่าช้าในการเยียวยาผู้เสียหายก่อให้เกิดปัญหาฝังรากลึกและสั่นคลอนความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจนกระทั่งถึงศาลยุติธรรม ตั้งแต่กรณีอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีทุกวัน ไปจนถึงกรณีพิพาทระหว่างประชาชนกับรัฐ โดยเฉพาะเมื่อหน่วยงานรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตและเลยไปยังแดนเทาถึงดำ ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมทำให้ต้นทุนของประชาชนสูงขึ้นตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องคดี เสียเวลา เสียโอกาส ในขณะที่หน่วยงานรัฐนั้น “แม้ว่าจะกระทำการไม่ถูกต้อง” แต่ผู้กระทำการก็มิต้องรับต้นทุนดังกล่าว เพราะรัฐก็มีหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องคดีความให้โดยอัยการ ความล่าช้าเมื่อประชาชนฟ้องรัฐจึงเป็นกระจกสะท้อนความไม่ยุติธรรมที่เกิดปัญหาและหยั่งรากลึกพร้อมกับความคับข้องใจเมื่อการฟ้องคดีถูกทอดยาวออกไปและดูเหมือนไม่มีจุดสิ้นสุดในสายตาของประชาชนผู้ฟ้องคดี

กรณีของพนักงานมหาวิทยาลัยหลายแห่งฟ้องหน่วยงานตนเอง เพราะผู้บริหารหักเงินเดือนจากฐานเงินเดือนเอาไว้โดยอ้างว่าไปจัดสวัสดิการทั้งที่ไม่มีอำนาจ หรือผู้บริหารใช้อำนาจหักเงินเพิ่มเงินเดือนนำไปเพิ่มให้พรรคพวกตนเอง กว่าที่ศาลจะตัดสินหรือมีคำสั่งก็ใช้ระยะเวลามากกว่าสามปี ยิ่งไปกว่านั้นแม้ว่าจะมีกรณีคล้ายกัน แต่การเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวในศาลกลับไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลมากนัก ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยหลายแห่งเกิดภาวะสมองไหลออกจากมหาวิทยาลัย หรือจำใจที่ต้องปรับตัวให้คุ้นชิน และลดประสิทธิภาพการทำงานของตนเองลง เพราะทำดีแค่ไหนก็ไม่สู้การเป็นคนของใครได้ ความยุติธรรมที่ล่าช้าดังกล่าว จึงก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดได้

ยิ่งไปกว่านั้น ในกระบวนการร้องเรียนการทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายหลักให้อำนาจ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยที่รายงานสถานการณ์ทุจริตประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หน้า 37 ระบุว่า

“ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงาน ป.ป.ช. มีเรื่องกล่าวหาคงค้างสะสม (ณ วันที่ 30 กันยายน 2562) จำนวน 14,350 เรื่อง เรื่องกล่าวหารับใหม่ (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562 - 30 กันยายน 2563) จำนวน 3,559 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 17,909 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งสิ้น 4,852 เรื่อง โดยมีเรื่องกล่าวหาคงเหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ (ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) จำนวน 13,057 เรื่อง”

โอกาสในการพัฒนาประเทศ ตอนที่ 1 : การประเมิน ผลลัพธ์ทางสังคม และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน

หลายปีที่ผ่านมา มีงานหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นการส่วนตัว นั่นคือ การประกันคุณภาพ การประเมินผลกระทบ รวมไปถึงการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน โดยผู้เขียนยึดหลักการง่าย ๆ ที่ครูของผู้เขียนเล่าให้ฟังว่า การประกันคุณภาพนั้น แท้ที่จริงคือ “การทำให้ดีกว่าเดิม” พูดง่าย ๆ คือ ก่อให้เกิดการพัฒนา ยิ่งถ้าคนในองค์กรร่วมมือร่วมใจด้วยหลักง่าย ๆ องค์กรนั้นก็พร้อมที่จะก้าวกระโดด และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ส่วนการประเมินผลกระทบนั้น มีตั้งแต่แบบง่ายจนไปถึงแบบยาก มีทั้งที่ระบุเป็นเงื่อนไขตามกฎหมาย ไปจนถึงหลักการปฏิบัติของธุรกิจทั่วไป กิจการเพื่อสังคม และองค์กรไม่แสวงหากำไร

ในประเทศไทย เรารับวัฒนธรรมการประกันคุณภาพมาหลายแขนง เช่น การประกันคุณภาพ (Quality Assurance-QA) หลักการของ Malcolm Baldrige ที่ใช้รางวัลเป็นแรงผลักดันการพัฒนาและนำมาใช้กับระบบราชการ การบริหารราชการ และการบริหารสถาบันการศึกษาของรัฐและในกำกับของรัฐ ในทางธุรกิจก็อยู่ในรูปแบบของ ISO ซึ่งย่อมาจาก (International Organization for Standardization) คือ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เป็นองค์กรที่ออกมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และอุตสาหกรรม ส่วนมาตรฐานที่องค์กรนี้ออกมา เช่น ISO 9000 และ ISO 14000 ซึ่งก็เป็นมาตรฐานที่ว่าด้วยระบบบริหารคุณภาพและระบบบริหารสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ลองคิดเล่น ๆ ว่า ในประเทศไทยหากไม่ใช่อุตสาหกรรมหรือองค์กรที่ใช้มาตรฐาน ISO หรือมาตรฐานอื่นของต่างประเทศที่มีผู้ประเมินเป็นคนนอกและเป็นอิสระ โดยเฉพาะระบบราชการและสถาบันการศึกษา ที่ใช้หลักการที่ดัดแปลงมานั้น ทำให้เกิดปัญหาในเชิงผลลัพธ์ แม้ว่าผลผลิตของหน่วยราชการและสถาบันการศึกษาจะเป็นไปตามเกณฑ์และสะท้อนว่ามีมาตรฐานสูงก็ตาม

ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากการบริหารจัดการการประเมิน และการมุ่งผลผลิต (Output) มากกว่าผลลัพธ์ (Outcome) ทั้งสิ้น

ในขณะที่หน่วยงานที่อยู่ในรูปแบบ “องค์การมหาชน” ที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามกฎหมายเฉพาะนั้น มีพันธกิจในการประเมินผลกระทบจากการดำเนินงาน ซึ่งหลายแห่งใช้การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม และ/หรือ ผลตอบแทนทางสังคมจากลงทุน ในขณะที่บางหน่วยงานใช้การประเมินทั่วไปในการประเมินผลกระทบจากการดำเนินงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ประเมิน ทั้งองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของผู้ประเมิน และความเป็นอิสระของผู้ประเมิน

อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม สร้างประโยชน์ให้ประเทศมากกว่า โดยเฉพาะความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อสังคม 

ตัวอย่างที่ผู้อ่านอาจทราบเป็นระยะคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมักสร้างประติมากรรมเสาไฟฟ้า โดยมีผู้รับจ้างเป็นเครือข่ายคล้าย ๆ กัน ลักษณะการจัดซื้อจัดจ้างคล้าย ๆ กัน และผลผลิตที่เป็นเสาไฟประติมากรรมแตกต่างกันตามรูปแบบที่หน่วยงานชื่นชอบ คำถามคือ ผลลัพธ์ของการลงทุนดังกล่าวคือ “แสงสว่าง” ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่หน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะพึงสังวรณ์ ในขณะที่ ผลลัพธ์ดังกล่าวถูกไปผนวกกับ “ความสวยงาม” ทำให้มีต้นทุนการดำเนินการที่สูง ใช้งบประมาณต่อเนื่อง และแลกมาด้วยพื้นที่ที่ต้องรอ “แสงสว่าง” 

กรณีนี้น่าคิดอย่างยิ่งว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรและตรวจสอบงบประมาณนั้น ไม่ได้นำหลักการผลลัพธ์ไปใช้เพียงแต่ดูผลผลิตเท่านั้น

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การที่หน่วยงานสร้างมายาคติ โดยเฉพาะอคติเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อ “ความสวยงาม” มากกว่า การสร้างผลลัพธ์เรื่องการแก้ปัญหาการกัดเซาะแบบใช้ “ปัญญา” ทำให้เราเห็นโครงการกำแพงกันคลื่นที่สร้างใหม่ สร้างซ้ำ สร้างได้ต่อเนื่องบนพื้นที่เดิม และมี “มือที่มองไม่เห็น” ได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การปลูกป่า โดยการกล่าวอ้างเทศกาลต่าง ๆ และนับผลผลิตต้นไม้ที่ปลูก ไร่ที่ดำเนินการ มากกว่า “ป่าที่ควรจะได้เพิ่ม” หากย้อนกลับไปดูจึงจะเห็นว่า งบประมาณที่สูญเสียไปนั้นมีทั้งตั้งใจให้เป็น และแหล่งสร้างงบประมาณให้ “มือที่มองไม่เห็น” ดังกล่าว

ปัญหาทั้งหมดคือ การไม่ใส่ใจผลลัพธ์ และการไม่ใช้เครื่องมือ ในกระบวนการจัดสรรและตรวจสอบอย่างเพียงพอ

ในประเทศไทยผู้ที่ศึกษาเรื่องการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนมาอย่างยาวนานต่อเนื่องคนหนึ่ง คือ คุณสฤณี อาชวานันทกุล และคณะ ด้วยความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าที่จะเห็นประเทศไทยพัฒนาในทางที่ถูกที่ควร นั่นคือ มีเครื่องมือ และใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องในการบริหารหน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานราชการและสถาบันที่หน่วยงานราชการกำกับดูแล

การใช้ผลลัพธ์ทางสังคมในฐานะเครื่องมือการบริหารจัดการงบประมาณนั้น เป็นการสะท้อนความคุ้มค่าของเงินที่เสียไปกับประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้งบประมาณดังกล่าว หลายหน่วยงานถูกตั้งคำถามว่า หน่วยงานนั้น ๆ โดยเฉพาะองค์การมหาชน สร้างคุณูปการใดแก่ประเทศ การตั้งคำถามดังกล่าวไม่ได้เป็นการจับผิด หากแต่เป็นการให้ระลึกว่าการใช้เงินต้องมีความคุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้

ยิ่งไปกว่านั้น การประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment-SROI) ซึ่งมีกระบวนการที่ยุ่งยากมากกว่านั้น มีประโยชน์ในการตอบคำถามสังคมในเรื่องการใช้เงินโดยเฉพาะงบประมาณของรัฐถึงความคุ้มค่าดังกล่าว 

สำหรับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กลุ่มนี้มีทั้ง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment-EIA) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental Health Impact Assessment-EHIA) ซึ่งอยู่ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) ซึ่งการประเมินทั้งสามถูกกำหนดในกฎหมายหลักและกฎหมายรองแล้วแต่ประเภท เครื่องมือเหล่านี้ ในระยะหลังมักจะถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่เจ้าของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน เพราะปัญหาเรื่องความไม่เป็นมืออาชีพ และเป็นอิสระ

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีเครื่องมือจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ ทั้งการพัฒนาหน่วยงานนั้น ๆ ให้มีมาตรฐานและพัฒนาอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นใจในเรื่องการใช้เงิน/งบประมาณอย่างคุ้มค่า การคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนจากการดำเนินโครงการรัฐหรือเอกชนที่อาจส่งผลเสียต่อประชาชน ชุมชน สังคม และทรัพยากร หากแต่การใช้เครื่องมือดังกล่าวยังไม่ได้พัฒนาจนกระทั่งเกิดความเป็นอิสระอย่างแท้จริง สร้างความเชื่อมั่น เชื่อใจให้กับประชาชน รวมไปถึงใช้ความรู้ที่ถูกต้องในการพัฒนาประประเทศ

ผู้เขียนเห็นว่า กรณีเช่นนี้ การให้หน่วยงานที่ที่กำหนดงบประมาณและตรวจสอบการใช้งบประมาณควรเป็นผู้สะท้อนเสียงการใช้เครื่องมือที่จำเป็นในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับสังคม การใช้เครื่องมือที่จำเป็นในการคุ้มครองสิทธิของคนตัวเล็ก และการที่ทุกภาคส่วนเห็นคุณค่าของการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าการกอบโกยของกลุ่มผลประโยชน์และการกระจายผลประโยชน์ที่บิดเบี้ยว และเป็นต้นทุนที่ขวางโอกาสการพัฒนาประเทศ


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

สำรวจ !! โอกาสในวิกฤต กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในภาวะโคโรน่า 2019

วิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 นั้น จัดได้ว่าเป็นวิกฤตที่ทำลายธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนทางกายภาพเป็นส่วนใหญ่ การติดต่อผ่านทางละอองฝอย และการเปื้อนเชื้อบนพื้นผิว ทำให้ต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ตรวจค้นโรค กักตัว รักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นทั้งสิ้น มาตรการทางระยะยาวขึ้นอยู่กับการมีวัคซีน การปลอดเชื้อ และการป้องกันเชื้ออย่างถาวร ในอดีตผู้รู้หลายท่านเปรียบเปรยว่า การป้องกันโรคอย่างถาวรของไวรัสโคโรน่า 2019 นั้น ต้องทำให้คล้ายกับถุงยางอนามัยที่ป้องกันการติดเชื้อเฮชไอวี แต่กระนั้น การป้องกันเชื้ออย่างถาวรกรณีไวรัสโคโรน่า 2019 ที่เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำได้ไม่ง่ายนักเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมไม่สอดคล้องกับเกราะป้องกันเชื้อเท่าไรนัก การป้องกันเชื้ออย่างถาวรจึงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติวิถีใหม่ และความสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคน เทคโนโลยี และการมีภูมิคุ้มกันหมู่เป็นสำคัญ

ผมถือโอกาสนี้ในการพูดถึงโอกาสสี่เรื่องในวิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยผ่านทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในการบริหารจัดการในวิกฤตนี้ และเรากำลังเผชิญกับภูเขาน้ำแข็งก้อนโตที่ด้านล่างโตกว่าสิ่งที่เห็นเสียอีก โอกาสที่ผมพูดถึงนี้ จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากผู้มีอำนาจนำไปปรับใช้อย่างถูกวิธี

โอกาสที่หนึ่ง โอกาสของการแพทย์แผนไทย และห่วงโซ่อุปทานของสมุนไพร

เป็นที่ทราบกันดีว่า การรักษาโรคติดเชื้อโคโรน่า 2019 นั้น เป็นการรักษาตามอาการ และมีวิธีและทิศทางในการรักษาที่มีหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการหนักต้องพึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงห้องปลอดเชื้อความดันลบ และกระบวนการที่ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์เมื่อทำการรักษาโรคอื่นที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงติดเชื้อโคโรน่า 2019 แต่ในผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการไม่หนัก ไม่มีอาการ การรักษาโดยการแพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ของประชาชน เหมาะสำหรับผู้ป่วยรอการรักษา รอเตียง กักตัว หรือทำการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรนั้น ไม่จำกัดแต่เพียง “ฟ้าทะลายโจร” แต่ยังรวมถึงสมุนไพรอื่น ๆ เช่น รากทั้งห้า สัตตโกฐ ยาเขียว และยาอื่น ๆ ที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน แบบยาสุม การรมสมุนไพร เป็นต้น การรักษาทางเลือกในระหว่างรอเตียงหรือกักตัวนั้น หากทำอย่างถูกวิธี นอกจากจะทำให้ต้นทุนในการรักษาโรคที่มาจากไวรัสโคโรน่า 2019 อยู่ในระดับที่เข้าถึงได้แล้ว ยังเสริมภูมิคุ้มกันในกรณีของผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยงอีกด้วย โดยอาจใช้แนวทางทานอาหารเป็นยา ตามข้อมูลเผยแพร่ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ และอีกหลายสถานพยาบาล เป็นต้น 

การใช้สมุนไพร หรืออาหารเป็นยานั้น มีห่วงโซ่อุปทานที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงที่พืชผักหรือธัญญาหารมีปัญหาด้านราคาผันผวน อันเนื่องมาจากความต้องการสินค้าเพื่อการบริโภคลดลง ในขณะที่ความต้องการยาหรือสมุนไพรมีเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากการป้องกัน การเก็งกำไร ก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐต้องทำก็คือ 

(1) ทำอย่างไรให้ทุกคนในห่วงโซ่อุปทานนี้ได้รับการกระจายผลตอบแทนที่เป็นธรรม เพราะการที่ราคาของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรทะยานขึ้นมาถึงกิโลกรัมละ 1 พันบาทนั้น ผู้ปลูกอาจไม่ได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมเท่าไรนัก 

(2) มีมาตรฐานของสมุนไพรที่ขึ้นทะเบียน และมีการตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะหนักของสมุนไพรบรรจุขวด และ/หรือ แคปซูล เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำเพื่อผู้บริโภค เพราะนอกจากต้องจ่ายแพงในภาวะเช่นนี้แล้ว การรับประทานสมุนไพรปนเปื้อนจะส่งผลร้ายต่อผู้บริโภคมากกว่า

(3) ประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการปลูกสมุนไพรที่มีคุณภาพและการผลิตที่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้ซื้อผู้ขายวัตถุดิบได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม 

(4) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญในพืชสมุนไพร หรือตำรับยารับรองในกรณีการปรุงยาแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น 

(5) ส่งเสริมการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรในลักษณะที่ชุมชนสามารถร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจได้ ในกรณีนี้จะช่วยสร้างรายได้ของชุมชนและผู้เกี่ยวข้องกับการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในขณะเดียวกันก็ป้องกันการผูกขาดในธุรกิจสมุนไพร

(6) การขึ้นทะเบียน การจดลิขสิทธิ์ การจดความลับทางการค้า จะช่วยให้การดำเนินการพัฒนาสมุนไพรนั้น มีความยั่งยืนมากขึ้น และป้องกันการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และ

(7) การสนับสนุนการวิจัยเชิงคลินิกของการใช้ตำรับยาแผนไทยในผู้ป่วยจริง

โอกาสที่สอง เสริมสร้างสถาบัน “บวร” 

บ้าน วัด โรงเรียน เป็นสามสถาบันที่เข้ามาเกี่ยวพันในภาวะวิกฤตโคโรน่า 2019 ในภาวะล็อกดาวน์นั้น หากบ้านไหนไม่มีผู้ติดเชื้อ ก็มีโอกาสอยู่ด้วยกันมากขึ้น แต่หากบ้านไหนมีผู้ติดเชื้อและไม่สะดวกในการกักตัวที่บ้านเนื่องจากความแออัด การใช้โรงเรียน สนามกีฬา ค่ายลูกเสือ ศูนย์ประชุม ห้องจัดเลี้ยง มาเป็นส่วนเสริมในการแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อจะทำให้การจัดการง่ายขึ้น เสริมกับ การให้คำปรึกษาและติดตามพัฒนาการทางไกล และระบบจัดส่งร่วม ทั้งเวชภัณฑ์ และอาหาร สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ การล็อกดาวน์ในสภาวการณ์แออัดของที่อยู่อาศัย และการไม่ปลอดเชื้อในที่อยู่อาศัยนั้น กลับเป็นตัวเร่งในยอดผู้ติดเชื้อและทำลายระบบสาธารณสุข

ดังนั้น การใช้โรงเรียน สนามกีฬา ค่ายลูกเสือ ศูนย์ประชุม ห้องจัดเลี้ยง และจ้างผู้ที่เกี่ยวข้อง/ผู้ที่ว่างงานจากการปิดกิจการมาดำเนินการ “การกักตัวแบบบริหารจัดการ” จะสามารถจ้างงานตรงเป้า บรรเทาการติดเชื้อ และชะลอความรุนแรงของระบบสาธารณสุขที่กำลังเปราะบาง

ในส่วนของ “วัด” ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นั้น บางวัดดำเนินการเผาศพฟรี ก็จำเป็นที่ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณลงไปช่วย เพราะหากที่เผาศพ มีปัญหา จะทำให้ความเดือดร้อนฝังรากลึกเกินเยียวยา และนโยบายเผาศพฟรีนั้น เป็นการช่วยครอบครัวผู้สูญเสียได้ตรงเป้าที่สุด และไม่รั่วไหล

โอกาสที่สาม ปรับแนวทางการบริหารจัดการแบบใช้ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสื่อสารอย่างถูกต้อง

ในวิกฤตครั้งนี้ หากติดตามข้อมูลเป็นระยะจะพบว่า มีการกักตุนหน้ากากอนามัยทั้งที่เป็นสินค้าควบคุม กักตุนแอลกอฮอล์ กักตุนชุด PPE กักตุนน้ำยาตรวจหาเชื้อ กักตุนชุดตรวจเชื้อ เก็งกำไรเครื่องวัดออกซิเจน เก็งกำไรสารฆ่าเชื้อ เก็งกำไรยาฟ้าทะลายโจร การอมวัคซีนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ สิ่งที่ผู้มีอำนาจควรทำก็คือ ดำเนินการบริหารจัดการอย่างโปร่งใสเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ในอนาคต และมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน มุ่งเป้า อาศัยข้อมูลผ่านทางนโยบายที่เกี่ยวข้อง และระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการโดยรัฐเปิดเผยและโปร่งใสมากที่สุด ในขณะเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายก็จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อสร้างมาตรฐานทางสังคมและสร้างสังคมที่ไม่สนับสนุนและอดทนต่อการคอร์รัปชัน

หลังจากล็อกดาวน์ 14 วันในพื้นที่สีแดงเข้ม สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือ 

(1) การเยียวยาทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม โดยที่มุ่งเป้ากลุ่มเปราะบาง โดยอาศัยฐานข้อมูลที่หลากหลายเชื่อมต่อกัน 
(2) แนวทางที่ชัดเจนในการได้มาซึ่งวัคซีน ทั้งด้านการทูต ความช่วยเหลือ และการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจที่เป็นธรรม 
(3) แนวทางเศรษฐกิจหลังจากโควิด-19 ที่เป็นรูปธรรม โดยอาศัยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวแบบเดิม หาโอกาสสร้างการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่เน้นการลดการทำลายทรัพยากรและการกระจายรายได้สู่ชุมชนไปพร้อมกัน และ 
(4) ปรับรูปแบบการสื่อสารโดยเน้นความเข้าอกเข้าใจ การสร้างจิตสำนึกสาธารณะร่วมกัน และการสื่อสารแบบเอื้ออาทร

โอกาสที่สี่ เอาตัวรอดในภาวะ “หนี้”

วิกฤตนี้ยังมีผลกระทบอีกเรื่องที่ผมบอกว่าเป็นฐานของภูเขาน้ำแข็งซึ่งใหญ่กว่าที่เรามองเห็นยอดภูเขาน้ำแข็งมากนัก สิ่งนั้นคือ ภาวะ “หนี้” ซึ่งหน่วยงานรัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามรับมือและแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหา “หนี้” จะแก้ได้อย่างถาวรนั้น ผู้ก่อหนี้มีส่วนสำคัญมาก ๆ ในการทำให้ปัญหาเบาบางลง สำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจว่าปัญหานั้นคืออะไร หากเป็นปัญหาการก่อหนี้จากพฤติกรรมส่วนตัวที่ชอบใช้จ่ายเกินตัว ก็จำเป็นต้อง ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่จะสร้างปัญหาในอนาคต โครงการแก้หนี้และคลินิกแก้หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นทางออกหนึ่งที่สำคัญของการแก้ปัญหาภูเขาน้ำแข็งที่จะมาหลังจากฝุ่นควันโควิด-19 เริ่มจางลง

การเอาตัวรอดในภาวะ “หนี้” นั้น จำเป็นต้องประกอบอาชีพสุจริตและพยายามสร้างรายได้จากศักยภาพของตน และคิดเหมือนนักธุรกิจว่ากระแสเงินสดที่เป็นรายได้นั้นควรมาจากหลายช่องทาง มากกว่าพึ่งพารายได้ทางเดียว การพยายามหาอาชีพเสริมรายได้หลัก เป็นสิ่งที่ควรทำ และรู้จักบริหารการเงินส่วนบุคคล ซึ่งผู้ที่อยู่ในกับดักหนี้นั้นจำเป็นต้องมีกลไกช่วยให้หลุดพ้นจากภาวะนี้ รวมไปถึงการออกกฎหมายการฟื้นฟูการเงินส่วนบุคคล ที่คล้ายกับการฟื้นฟูกิจการ เพราะการปล่อยให้ภาวะ “หนี้” บีบคนที่พอมีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ให้ประเทศหนำซ้ำบีบให้ไปทำผิดกฎหมายเพื่อมาชำระหนี้นั้น นับเป็นความสูญเสียของประเทศในอีกทางหนึ่ง

หากจะขออะไรในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างโอกาสที่ดีของเรื่องนี้ คือ ขอวิชาความรู้การเงินพื้นฐาน ให้ถูกบรรจุในการเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ผ่านบทเรียน ผ่านการ์ตูนสำหรับเด็ก เน้นเรื่องการค้าขาย การประกอบสัมมาอาชีพ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในสังคม การก่อหนี้ที่เป็นประโยชน์ และการไม่ก่อหนี้ที่จะสร้างปัญหา โอกาสในการให้เด็กเรียนรู้การเงินพื้นฐานมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในสังคม ที่มีให้เห็นจำนวนมากในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 

ในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การป้องกันการติดเชื้อ การตรวจคัดกรอง และวัคซีน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถย่อหย่อนได้เพราะวิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 ก่อผลกระทบในวงกว้าง ทั้งครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม แต่เราจะเห็นได้ว่าในวิกฤตยังมีโอกาส และแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากแต่เพียงผู้ที่เกี่ยวข้องจะมองเห็นและใช้โอกาสในทางที่ถูกที่ควร การเห็นปัญหาเป็นเรื่องที่ดี และการหาทางออกแบบยั่งยืนเป็นการใช้โอกาสในวิกฤตซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน 


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

คอร์รัปชัน...ไหมครับท่าน ตอนที่ 6 เรียนรู้จากสิงคโปร์ การป้องกันและการปราบปรามการทุจริต

การแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบที่ประสบความสำเร็จและได้รับการกล่าวขานเสมอในแถบภูมิภาคนี้ คือ กรณีการจัดการการทุจริตในประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ยืนยันด้วยผลงานการจัดอันดับใน ดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index-CPI) จัดทำโดย องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) สำหรับประเทศในแถบเอเชีย สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคะแนนสูงที่สุด 85 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 3 ของโลก ในขณะที่ฮ่องกง และญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 11 และ 19 ตามลำดับ (77 และ 74 คะแนน) ประเทศไทยได้คะแนนดังกล่าวที่ 36 คะแนนอยู่ในลำดับที่ 104 น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประเทศในโลกที่มีคะแนนเกินครึ่งโดยที่ประเทศที่มีคะแนนเกินครึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรปนั้น ทำให้เราน่าจะเรียนรู้จากกรณีของสิงคโปร์ในการจัดการกับการทุจริตประพฤติมิชอบแบบที่แม้มีอำนาจในการบริหารประเทศสูงสุด เช่น นายกรัฐมนตรี ก็ต้องถูกตรวจสอบเช่นกัน

หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการกับปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบของสิงคโปร์ คือ สำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน (Corrupt Practices Investigation Bureau : CPIB) ซึ่งศักยภาพในการปฏิบัติงานเพื่อจัดการกับปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในสิงคโปร์นั้นได้รับการยอมรับในระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพในงานด้านการสืบสวน (investigation) กลไกในการจัดการกับปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบของสิงคโปร์นั้นมีศักยภาพที่โดดเด่นและสามารจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลไกการทำงานภายใต้กลยุทธ์หลัก 5 ด้าน กล่าวคือ ด้านแรก เจตนารมณ์ของฝ่ายการเมืองที่ต้องการกำจัดปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง (Strong political will) ด้านที่สอง กฎหมายป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ (Effective laws) ด้านที่สาม ระบบศาลและการดำเนินคดีที่มีความอิสระ (Independent judiciary) ด้านที่สี่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและเด็ดขาด (Effective enforcement) และ ด้านที่ห้า การให้บริการสาธารณะหรือการดำเนินงานของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ (Responsive public service) 

สำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน (CPIB) ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีและได้รับรับรองการใช้อำนาจในการปฏิบัติงานอย่างอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสิงคโปร์และกฎหมายป้องกันการทุจริต (prevention of corruption act) ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1960 โดยให้อำนาจในการจับกุมและสืบสวนการกระทำผิดในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในสิงคโปร์ รวมถึงข้าราชการและพนักงานเอกชนทุกคนตลอดจนข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือข้าราชการอาวุโสของกระทรวงต่าง ๆ

บทบาทหน้าที่หลักของสำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 
(1) การรับเรื่องราวร้องทุกข์และสืบสวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันทั้งใน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 
(2) การสืบสวนการประพฤติหรือปฏิบัติงานโดยมิชอบ (malpractices) ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ 
(3) การพิจารณาพฤติกรรมและกระบวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการในการให้บริการสาธารณะเพื่อลดโอกาสของการเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน 

สำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชันของสิงคโปร์ (CPIB) มีโครงสร้างในการทำงานที่เล็ก ไม่ซับซ้อน มีผลทำให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัวสูงประกอบกับการมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ให้อำนาจในการปฏิบัติงานได้อย่างอิสระ จึงทำให้การปฏิบัติงานด้านการสืบสวนของสำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชั่น (CPIB) สามารถจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว

ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศไทยในการจัดการกับปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบบ้างว่าหากจะปรับใช้จากกรณีของสิงคโปร์นั้นเราจะสามารถนำสิ่งดี ๆ มาใช้ได้อย่างไร

ประการแรก กลยุทธ์การจัดการปัญหาคอร์รัปชัน นั้น คือ ความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาจากฝ่ายการเมือง เป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการฝ่าด่านการแก้ปัญหานี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ การเมืองไม่นิ่งและมีการต่อรองทางการเมืองเพื่อรักษาเสถียรภาพในการบริหารประเทศ การเมืองนิ่งในประเทศไทยนั้นหากย้อนกลับไปสักยี่สิบปีจะพบว่า มีแค่สองช่วง คือ สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 และสมัยรัฐบาลที่มาจากการกระทำรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ปัญหาการคอร์รัปชั่นในสมัยนั้น ยังอยู่ในระดับมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากจะฝ่าด่านการแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบโดยยึดกลยุทธ์ 5 ด้านของสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยจึงติดตั้งแต่ข้อแรก 

ลองพิจารณาในด้านที่สอง กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากนับจำนวนกฎหมาย ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาทุจริตจำนวนมาก แต่กฎหมายดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การเพิ่มขั้นตอนเพื่อไม่ให้เข้าสู่กระบวนการด้านระยะเวลาตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องแล้วเสร็จ หรือมีบางตัวบทที่ตัดตอนหรือยกประโยชน์ให้กับความล่าช้าไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ ดังนั้น ในด้านที่สองนี้ แม้ว่าจะมีกฎหมายที่เขียนไว้อย่างสวยหรูเพียงใด แต่การปฏิบัติตามกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาการคอร์รัปชันไม่สัมฤทธิผล

ด้านที่สาม ระบบศาลและการดำเนินคดีที่มีความอิสระ หากพิจารณาเชิงระบบ ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการพอสมควร เพราะมีการจัดตั้งศาลคดีทุจริต ขึ้นมาโดยเฉพาะ หากแต่กลไกที่นำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น ต้องเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ประเด็นเรื่องรัฐเป็นผู้เสียหาย จึงเป็นอุปสรรคเมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบและนำคดีขึ้นสู่ศาล ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือหย่อนสมรรถภาพ หรือในกรณีที่เลวร้าย คือ มีการต่อรองคดีได้ ทำให้แม้ว่าระบบศาลและการดำเนินคดีมีความอิสระ แต่ติดตั้งแต่ต้นทางนั่นเอง

ด้านที่สี่ การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด จริงจัง เด็ดขาด ในประเด็นนี้ หากไม่พูดถึงกรณีนาฬิกายืมเพื่อนมา ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดูจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เข้มงวดที่สุด ในบรรดาบทบัญญัติด้านการปราบปรามการทุจริต ในกรณีอื่น ๆ นั้น มีหลายปัจจัยที่ทำให้การดำเนินการแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ความล่าช้าในการสืบสวนสอบสวน แม้ว่ากฎหมายจะระบุชัดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การงดหรือการลดค่าปรับหรือการขยายเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง 

ด้านที่ห้า การให้บริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ในประเด็นนี้ ต้องให้เครดิตว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้รับบริการ แม้ว่าบางกรณียังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านและการใช้ดุลพินิจยังลักลั่นอยู่บ้าง เช่น การเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนในหน่วยงานรัฐแม้ว่าหน่วยงานนั้นจะอยู่ในกระทรวงมหาดไทยและเชื่อมต่อฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้แล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่บริการสาธารณะอยู่ในระดับที่ดีขึ้น เพราะการปรับปรุงระบบบริการตามเทคโนโลยี และความพยายามในการให้บริการสาธารณะ

จากการพิจารณาใน 5 ด้านในกรณีสิงคโปร์จะพบว่า ประเทศไทยต้องพัฒนาต่อไปโดยเฉพาะเรื่อง ความตั้งใจในการแก้ปัญหา “อย่างจริงจัง” ของประชาชน แม้ว่าจะหวังพึ่งฝ่ายการเมืองได้ยาก หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป ภายใต้การตื่นรู้ ความเข้าใจถึงปัญหาและพิษภัยของการคอร์รัปชัน จะทำให้ปัญหาค่อย ๆ เบาบางลงแต่ใช้ระยะเวลาพอสมควร ทางออกสำคัญยิ่ง คือ การเปิดเผยข้อมูลและการ “ไม่ทน” ต่อการทุจริตประพฤติมิชอบ และการทำงานแบบเครือข่ายที่มีการเชื่อมโยงกัน นอกจากนั้น การออกแบบลักษณะของปัญหาที่ทำให้สามารถจัดการกรณีที่มีฐานความผิดรองรับแล้วโดยการเชื่อมโยงเทคโนโลยี จะทำให้การจัดการคดีมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น กรณีการกระทำความผิดจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึง การงดหรือลดค่าปรับหรือขยายเวลาโดยมิชอบซึ่งกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างมีรายละเอียดและประเด็นที่รัดกุมเพียงพอที่จะทำให้การใช้เทคโนโลยี AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ ข้อดีอย่างยิ่งของการใช้เทคโนโลยี AI หรือการสอบสวนคดีแบบเป็นขั้นเป็นตอน คือ เทคโนโลยีไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่มีพรรคมีพวก ถูกผิดว่ากันตามตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมมากกว่าปัจจุบันที่ระบบอุปถัมภ์และพรรคพวกได้หยั่งรากลึกลงไปจนกระทั่งวิกฤติโควิด-19 ปรากฏการทุจริตหลายรูปแบบตั้งแต่หน้ากาก อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งวัคซีน

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยนั้น ยังมีทางแก้ไข และสามารถทำให้ดีขึ้นได้ หากมีความร่วมมือในภาคประชาชน อย่างเพิ่งสิ้นหวังครับ


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 5 การป้องกัน และการปราบปรามการทุจริต

การแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทยนั้นยังพอมีหนทางที่จะทำได้ ซึ่งตอนที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนได้เสนอแนะในเรื่องการใช้งบการเงินในฐานะเครื่องมือที่ทรงพลังในการส่งสัญญาณที่ผิดปกติของแต่ละองค์กรภาครัฐไปแล้วนั้น สรรสาระ ประชาธรรม ตอนนี้ จะกล่าวถึงองค์ประกอบในการแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีองค์ประกอบสำคัญในภาพใหญ่สองด้าน นั่นคือ (1) การป้องกันการทุจริต และ (2) การปราบปรามการทุจริต ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในโอกาสครบรอบ 4 ปีการจัดตั้ง ป.ป.ช. ว่า 

“…มีวิธีใดบ้างที่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นให้น้อยลงไปได้นั้น เห็นว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวมี 2 วิธี คือ การป้องกันและการปราบปราม สำหรับการป้องกันนั้นถ้าได้ผล การปราบปรามก็จะมีความสำคัญน้อยลง ดังนั้น การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงควรเน้นหนักที่การป้องกัน แต่การที่จะทำให้การทุจริตลดน้อยลงได้นั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นฝังรากลึกในระบบราชการ การแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลจึงยากมาก ดังนั้น ก่อนที่จะมีมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรศึกษาอย่างเป็นระบบว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นมีวิธีการอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน…” 

ในประเด็นนี้ นักคิด นักปฏิบัติ และผู้คร่ำหวอดในวงการธรรมาภิบาล เช่น ดร.บัณฑิต นิจถาวร ได้กล่าวไว้ว่า “มี 2 สาเหตุที่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นแก้ยาก สาเหตุแรก การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ อีกเหตุผลหนึ่ง คือ สังคมเองอ่อนแอ” และเมื่อวิเคราะห์บริบทสำคัญย้อนกลับไปในอดีตนั้น จะพบว่า การที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และระบบอิทธิพลสูง ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรงและแก้ไขยาก ที่น่ากลัวกว่านั้น คือ ดร.บัณฑิต กล่าวว่า “...คนพร้อมจะช่วยกันทำความผิด พร้อมช่วยคนผิดให้พ้นผิด และที่แย่ที่สุด คือ พร้อมสรรเสริญคนผิด เพียงเพราะเขารวย ไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความร่ำรวย ยอมรับนับถือ จนกลายเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม ทำให้คนยิ่งกล้าทำผิดเพราะนอกจากจะรวยแล้ว ไม่ถูกจับแล้ว ยังมีคนสรรเสริญ มีหน้ามีตาในสังคม ในสังคมไทยเรื่องนี้ชัดเจน และเป็นความอ่อนแอ ทำให้คอร์รัปชั่นกลายเป็นบันไดไต่เต้าให้กับคน จากที่ไม่มีอะไรเลย กลายเป็นคนที่สังคมรู้จัก ร่ำรวย มีตำแหน่ง แม้จะโกงบ้านโกงเมือง...”

กลับมาที่การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เมื่อการป้องกันสำคัญกว่าการปราบปราม และหากสังคมเข้มแข็ง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อกรณีการทุจริตประพฤติมิชอบ ปัญหาคอร์รัปชั่นจะเบาบางลง ดังนั้น หากเรามองไปดูประเทศอื่นที่แต่เดิมปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรง ว่าประเทศเหล่านั้นแก้ปัญหาได้อย่างไร และสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้อย่างไร เราจึงควรพิจารณากลุ่มประเทศที่ได้รับคะแนน ดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index--CPI) จัดทำโดย องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) ซึ่งประเทศที่มีค่า CPI-2020 เกินครึ่งมีเพียง 57 ประเทศเท่านั้นจากการเปิดเผยข้อมูลใน 180 ประเทศและประเทศไทยได้คะแนนดังกล่าวที่ 36 คะแนนอยู่ในลำดับที่ 104 โดยที่ประเทศที่มีคะแนนเกินครึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป สำหรับประเทศในแถบเอเชีย สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคะแนนสูงที่สุด 85 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 3 ของโลก ในขณะที่ฮ่องกง และญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 11 และ 19 ตามลำดับ (77 และ 74 คะแนน) องค์กรนี้ตั้งขึ้นมาในปี 2536 โดยมีพันธกิจสำคัญ คือการหยุดการคอร์รัปชั่น และส่งเสริม ความโปร่งใส ความรับผิดรับชอบ ความซื่อสัตย์ในทุกภาคส่วน ทุกระดับในสังคม (Our mission is to stop corruption and promote transparency, accountability and integrity at all levels and across all sectors of society.)

ความน่าสนใจก็คือ หากย้อนเวลากลับไปในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ทั้งสิงคโปร์และฮ่องกง ประสบปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างหนัก มีคำกล่าวของคนฮ่องกงในยุคนั้นว่า แค่ก้าวขาออกจากบ้านก็ต้องโดนรีดไถแล้ว แต่ประมาณ 30-40 ปีต่อมาทั้งสองกลับมีการพัฒนาอย่างยิ่งยวด ทั้งที่หากมองจุดตั้งต้นทางเศรษฐกิจนั้นประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นทางการเงินและทรัพยากรสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง จุดพลิกผันสำคัญประการหนึ่งที่ทั้งคนสิงคโปร์และฮ่องกงยอมรับคือ การแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นทำให้ประเทศทั้งสองมีความเจริญก้าวหน้ามีการพัฒนาเช่นทุกวันนี้ สอดคล้องกับคำกล่าวที่เป็นแคมเปญรณรงค์ขององค์กรความโปร่งใสสากลในปี 2547 ที่ว่า เมื่อมีคอร์รัปชั่นทุกคนเป็นผู้จ่าย (With corruption everyone pays)

น่าสนใจอย่างยิ่งละครับ

งานศึกษาจำนวนมากสรุปว่า “ความตั้งใจของคนในชาติ และผู้นำ” มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยที่สิงคโปร์และฮ่องกงจัดตั้งหน่วยงานพิเศษสำหรับการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ (ก็คล้าย ๆ ป.ป.ช. บ้านเรา) และหน่วยงานดังกล่าวเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวที่ไฟแรงและมีอุดมการณ์ในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ เป็นทั้งผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่พึ่งให้กับผู้ชี้เบาะแสการทุจริตประพฤติมิชอบ รายงานของ Transparency International เองก็ให้ข้อเสนอแนะในแนวทางเดียวกัน คือ ผู้นำรัฐบาลมีบทบาทสำคัญ และจะต้องแสดงออกชัดเจนถึงพันธกรณี โดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

กรณีของฮ่องกงนั้น ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง I Corrupt All Cops (2009) ผลงานการกำกับของ หว่อง จิ้ง (Wong Jing) คำอธิบายของภาพยนตร์ดังกล่าวให้ข้อมูลว่า หว่อง จิ้ง เติบโตทันที่จะเห็นสภาพสังคมฮ่องกงในยุคที่ ตำรวจกับโจรแทบไม่ต่างกัน มาจนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 80-90 ที่ผู้ปกครองฮ่องกงปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง จนทำให้วันนี้ ฮ่องกงกลายเป็นเมืองที่มีความโปร่งใสมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

I Corrupt All Cops เริ่มต้นด้วยการฉายให้เห็นความฟอนเฟะของสังคมฮ่องกงยุค 50-70 ที่ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมาย คือ “หัวโจก” ใหญ่ของการรีดนาทาเร้นประชาชน โดยรัฐบาลที่ปกครองเกาะฮ่องกง ทำได้แค่ “หลี่ตา” แถมตัวหัวหน้าตำรวจยังรู้เห็นเป็นใจกับแก็งค์มาเฟีย โดยรับส่วยแลกกับการให้ความคุ้มครองอย่างถูกกฎหมายและไม่ต้องถูกจับ การก่อตั้งหน่วย Independent Commission Against Corruption (ICAC) กลายเป็นความหวังที่เหลือของคนฮ่องกง แม้ว่าช่วงแรก ๆ คนจะมองว่าเป็นเพียงหน่วยงาน “เสือกระดาษ” ที่ตั้งขึ้นมาก็ไม่แตกต่างจากตำรวจทั่วไป แต่โชคดีที่หน่วยงานใหม่นี้เต็มไปด้วย คนหนุ่มไฟแรง นักศึกษาจบใหม่ที่มีอุดมการณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น อยากเห็นสังคมฮ่องกงดีขึ้น ต่างเข้ามาสมัครเป็นพนักงาน ท้ายที่สุด ICAC ได้รับการยกย่องว่าเป็นรูปแบบการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ดีรูปแบบหนึ่งของโลก

แต่กว่าจะเห็นความสำเร็จ คนที่เคยต่อสู้กับความอยุติธรรม และการคอร์รัปชั่นมาก่อนจะรู้ว่าไม่ง่าย

ความน่าสนใจคือ แล้วจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยอย่างไร และจะฝ่าด่าน “แบบไทย ไทย” ได้หรือไม่ น่าติดตามในตอนหน้านะครับ

อัพเดตข้อมูลข่าวสารเล็กน้อยครับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีของเล่นใหม่ คือ คลังข้อมูลการป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption Toolbox) สำหรับให้ประชาชนและเครือข่ายเข้าไปใช้บริการ ทั้งการเล่นเกม การแจ้งเบาะแส และข้อมูลต่าง ๆ น่าสนใจครับในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็ขอให้ผู้สนใจลองดาวน์โหลดโปรแกรมดังกล่าวไปทดลองใช้ เพื่อยืนยันว่าอย่างน้อยเราก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเล็ก ๆ ที่จะไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

คราวหน้าจะมาพูดถึงกรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงครับ ว่าเค้าประสบความสำเร็จในการต่อสู้คอร์รัปชั่นอย่างไร และการมีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญไม่แพ้การมีผู้นำที่ดีอย่างไร

 

คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 4 งบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี เครื่องมือเบื้องต้นในการแกะรอยการทุจริต

เกริ่นไว้ในสามตอนที่แล้วว่า การแก้ปัญหาการทุจริตใช่ว่าจะหมดหวังเลยเสียทีเดียว เพราะมีเครื่องมือจำนวนหนึ่งในการตรวจหาความผิดปกติที่เป็นต้นตอของการกระทำการทุจริตได้

สรรสาระ ประชาธรรม ตอนนี้ อยากให้บุคลากรในหน่วยงาน ประชาชน และผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องในหลายระดับในการดำเนินการภาครัฐให้ความสำคัญกับเครื่องมือเบื้องต้นที่จะช่วยตรวจสอบการดำเนินการ ส่งสัญญาณปัญหาการดำเนินการก่อนเกิดความเสียหายร้ายแรง เครื่องมือที่ว่านั้น คือ งบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี

งบการเงิน หรืออาจเรียกว่า รายงานการเงิน นั้น ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 ตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 นั้น ระบุความหมายของงบการเงินว่า

ข้อ 9 งบการเงินเป็นการนำเสนอฐานะการเงินและผลการดำเนินงานการเงินของกิจการอย่างมีแบบแผน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจของผู้ใช้งบการเงินกลุ่มต่าง ๆ นอกจากนี้ งบการเงินยังแสดงถึงผลการบริหารงานของฝ่ายบริหารซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลทรัพยากรของกิจการ เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว งบการเงินให้ข้อมูลทุกข้อดังต่อไปนี้เกี่ยวกับกิจการ
1) สินทรัพย์
2) หนี้สิน
3) ส่วนของเจ้าของ
4) รายได้และค่าใช้จ่าย รวมถึงผลกำไรและขาดทุน
5) เงินทุนที่ได้รับจากผู้เป็นเจ้าของและการจัดสรรส่วนทุนให้ผู้เป็นเจ้าของในฐานะที่เป็นเจ้าของ และ
6) กระแสเงินสด
ข้อมูลเหล่านี้และข้อมูลอื่นที่เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินช่วยผู้ใช้งบการเงิน ในการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะเวลาและความแน่นอนที่กิจการจะก่อให้เกิดกระแสเงินสดในอนาคตของกิจการ (ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563)

ทำไมงบการเงินจึงมีส่วนช่วยในการตรวจจับ ส่งสัญญาณ หรือ แกะรอยการทุจริต นั่นเป็นเพราะว่า อนาคตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน การตรวจสอบงบการเงิน ต้องรับผิดชอบ และรับผิดหากการจัดทำงบการเงินหรือรับรองงบการเงินโดยมิชอบนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อผู้บริหารกล้าที่จะกระทำการทุจริต จึงไม่ง่ายนักที่จะดำเนินการเว้นเสียแต่ว่าในทุกองคาพายพก็พร้อมกระทำการทุจริต แต่ถึงกระนั้น งบการเงินก็ยังเป็นร่องรอยที่สำคัญในการแกะรอยการทุจริตได้

เครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์หากผู้ที่เกี่ยวข้องใส่ใจ ผู้ที่มีอำนาจตรวจสอบ กำกับดูแลเอาใจใส่ ในการทำหน้าที่ เพราะมีการรองรับหรือแนวทางให้พิจารณา นั่นคือ

ข้อ 20 ในกรณีที่กิจการไม่ปฏิบัติตามที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนด ตามที่ระบุไว้ในย่อหน้าที่ 19 กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลทุกข้อดังต่อไปนี้
20.1 ข้อสรุปของฝ่ายบริหารที่ว่า งบการเงินได้แสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดโดยถูกต้องตามที่ควร
20.2 ข้อความที่แสดงว่ากิจการได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีการถือปฏิบัติยกเว้นเรื่องที่กิจการจำต้องไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เพื่อให้งบการเงินแสดงข้อมูลถูกต้องตามที่ควร
20.3 ชื่อของมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่กิจการไม่ปฏิบัติตาม ลักษณะของการไม่ถือปฏิบัติรวมถึงการปฏิบัติที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนด สำหรับการไม่ปฏิบัติตาม เหตุผลที่หากปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ดังกล่าวแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมากในสถานการณ์ต่างๆ จนเป็นเหตุให้งบการเงินขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดในกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน และวิธีปฏิบัติที่กิจการเลือกใช้ และ
20.4 ผลกระทบทางการเงินของการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีต่อรายการแต่ละรายการในงบการเงินของกิจการ หากกิจการถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับแต่ละงวดที่มีการนำเสนอนั้น
21 กรณีที่กิจการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินเรื่องใดในงวดก่อนแล้วส่งผลต่อจำนวนเงินที่รับรู้ในงบการเงินงวดบัญชีปัจจุบัน กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดในย่อหน้าที่ 20.3 และ 20.4 
22 ตัวอย่างของการใช้ข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 21 ได้แก่ กิจการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินในงวดก่อนในการวัดมูลค่าสินทรัพย์หรือหนี้สิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการวัดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินที่รับรู้ในงบการเงินงวดปัจจุบัน (ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563)

จะเห็นได้ว่า มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 นั้นเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส สอดคล้องกับปรัชญาการบัญชีที่ต้องมีความรับผิด (Accountability) ยิ่งไปกว่านั้น มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 มีหลักการที่สำคัญ และไม่อ่อนข้อหรือต้องตีความทางกฎหมายแบบนิติบริกร กล่าวคือ ตรงไปตรงมา ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนในข้อ 18 นั่นคือ

ข้อ 18 การเปิดเผยนโยบายการบัญชี การเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือการจัดทำคำอธิบายเกี่ยวกับนโยบายการบัญชีที่ไม่เหมาะสมที่กิจการใช้ไม่ทำให้นโยบายการบัญชีนั้นเหมาะสมขึ้นมาได้ (ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563)


กรณีศึกษา
มหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐแห่งหนึ่งนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่แสดงความคิดเห็นในงบการเงิน ของมหาวิทยาลัยนั้น ถึงสองปีต่อเนื่องกัน คือ ปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ 2558 โดยที่สาระสำคัญ คือ

“1.3 มหาวิทยาลัยมิได้จัดส่งงบการเงินของหน่วยงานย่อยให้ตรวจสอบ 3 หน่วยงาน มีสินทรัพย์รวมจำนวน 529.33 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 89.83 ล้านบาท และส่วนของทุนรวมจำนวน 387.13 ล้านบาท รายได้รวมจำนวน 293.18 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 240.87 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ารายการที่แสดงในงบการเงินว่าถูกต้องหรือไม่ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557)”


ข้อที่มีความสำคัญยิ่ง คือ

“2. ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินหมายเหตุ 3 หมายเหตุ 6 และหมายเหตุ 10 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น และเงินลงทุนระยะยาว จำนวน 3,999.19 ล้านบาท จำนวน 3,580.84 ล้านบาท และจำนวน 5,149.17 ล้านบาท ตามลำดับ

2.1 บัญชีเงินฝากธนาคารที่แสดงไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 446 บัญชี รวมเป็นเงิน 2,741.24 ล้านบาท จากการสอบยันยอดเงินฝากธนาคารจากสถาบันการเงินไม่ปรากฏยอดเงินฝากดังกล่าว

2.2 ตามหนังสือยืนยันยอดเงินฝากธนาคารของสถาบันการเงิน พบบัญชีเงินฝากธนาคารที่ไม่ได้ระบุไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 313 บัญชี เป็นเงินจำนวน 270.58 ล้านบาท

2.3 ยอดคงเหลือบัญชีเงินฝากธนาคารตามหนังสือยืนยันยอดของสถาบันการเงิน และตามรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรองแสดงยอดไม่ตรงกัน รวม 71 บัญชี ผลต่างรวม 142.83 ล้านบาท
ตามข้อ 2.1-2.3 มหาวิทยาลัย XXX มิได้ชี้แจง หรือแสดงหลักฐานยืนยันว่าบัญชีเหล่านี้เป็นของมหาวิทยาลัยหรือไม่ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557)”

จะเห็นได้ว่า งบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี ได้ส่งสัญญาณแล้วว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังมีปัญหายิ่งยวด กระทบกับความน่าเชื่อถือ กระทบกับความโปร่งใสของการบริหารงาน ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ต้องให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อตามไปดูรายงานการสอบบัญชีในปีงบประมาณ 2558 พบว่า

“1.2 มหาวิทยาลัยมิได้จัดส่งงบการเงินของหน่วยงานย่อยให้ตรวจสอบ จำนวน 8 หน่วยงาน มีสินทรัพย์รวมจำนวน 1,607.64 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 294.08 ล้านบาท และส่วนของทุนรวมจำนวน 1,242.88 ล้านบาท รายได้รวมจำนวน 706.19 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 635.51 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถตรวสอบได้ว่ารายการที่แสดงในงบการเงินว่าถูกต้องหรือไม่ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558)”

เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจะพบว่า ทั้งจำนวนหน่วยงานที่เพิ่มขึ้น จาก 3 เป็น 8 หน่วยงานและสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของทุน รายได้รวม และค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นทั้งหมด สะท้อนความหละหลวม ไม่ใส่ใจ และไม่เอาใจใส่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยโดยแท้ ยิ่งไปกว่านั้น

“2. ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินหมายเหตุ 3 หมายเหตุ 4 และหมายเหตุ 8 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น และเงินลงทุนระยะยาว จำนวน 4,650.62 ล้านบาท จำนวน 3,326.81 ล้านบาท และจำนวน 5,225.74 ล้านบาทตามลำดับ
2.1 บัญชีเงินฝากที่แสดงไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 669 บัญชี รวมเป็นเงิน 3,854.71 ล้านบาท จากการสอบยันยอดเงินฝากธนาคารจากสถาบันการเงินไม่ปรากฏยอดเงินฝากดังกล่าว
2.2 ตามหนังสือยืนยันยอดเงินฝากธนาคารของสถาบันการเงิน พบบัญชีเงินฝากธนาคารที่ไม่ได้ระบุไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 312 บัญชี เป็นเงินจำนวน 276.78 ล้านบาท
2.3 ยอดคงเหลือบัญชีเงินฝากธนาคารตามหนังสือยืนยันยอดของสถาบันการเงิน และตามรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรองแสดงยอดไม่ตรงกัน รวม 25 บัญชี ผลต่างรวม 181.84 ล้านบาท
ตามข้อ 2.1-2.3 มหาวิทยาลัย XXX มิได้ชี้แจง หรือแสดงหลักฐานยืนยันว่าบัญชีเหล่านี้เป็นของมหาวิทยาลัยหรือไม่ อย่างไร (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558)”

เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจะพบว่า ทั้งจำนวนยอดเงินฝากที่ไม่ปรากฏเพิ่มขึ้น และจำนวนบัญชีที่ไม่ปรากฏเพิ่มขึ้น และทุกรายการใน 2.1-2.3 เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย สะท้อนความหละหลวม ไม่ใส่ใจ และไม่เอาใจใส่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยโดยแท้ ยิ่งไปกว่านั้น

จากการสอบทานการรายงานสภามหาวิทยาลัยแห่งนั้น พบว่า ผู้บริหารมิได้รายงานการสอบบัญชีและงบการเงินต่อสภามหาวิทยาลัยมากกว่า 5 ปี ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นกำหนดให้ผู้บริหารต้องรายงานสภามหาวิทยาลัยภายใน 90 วันหลังจากสิ้นปีงบประมาณ และสภามหาวิทยาลัยต้องรายงานรัฐมนตรี นอกจากนั้น กฎหมายกำหนดให้เปิดเผยงบการเงินไว้ในรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการ

นี่คือประโยชน์ของงบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี ในฐานะเครื่องมือเบื้องต้นที่จะช่วยในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต งบการเงินและรายงานผู้สอบบัญชีได้ทำหน้าที่ในฐานการส่งสัญญาณครบถ้วนแล้ว ที่เหลือคือ คนที่มีหน้าที่ต้องทำหน้าที่ของตนเอง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประโยชน์ของผู้บริหารเป็นสำคัญ

จากกรณีศึกษา จะพบว่า หากหน่วยงานรัฐให้ความสำคัญกับเครื่องมือในฐานะการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หน่วยงานของรัฐก็จะน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ที่สำคัญ คือ การช่วยลดทอนการกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบได้ในระดับหนึ่ง


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 3

หน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยถูกบัญญัติไว้ใน มาตรา 234 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นั่นคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัย รวมถึงหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด โดยมีเจตนารมณ์ให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม นอกจากนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61 มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 65 และมาตรา 66 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 234 วรรคสอง กําหนดไว้ ด้วยหลักการของบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นศูนย์กลางของการรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตเจ้าพนักงานของรัฐทุกระดับ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2561

ในตอนนี้จะขอกล่าวถึง ปัญหาการรวมศูนย์ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยอ้างอิง เอกสารสถานการณ์การทุจริตประเทศไทย พ.ศ. 2562

ในปีงบประมาณ 2562 คํากล่าวหาร้องเรียนที่เข้ามาสู่สํานักงาน ป.ป.ช. มีจํานวนทั้งสิ้น 10,382 เรื่อง แยกเป็น หนังสือร้องเรียน จํานวน 4,855 เรื่อง (ร้อยละ 46.76) บัตรสนเท่ห์ จํานวน 2,632 เรื่อง (ร้อยละ 25.35) หนังสือราชการ จํานวน 2,143 เรื่อง (ร้อยละ 20.64) ร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ จํานวน 529 เรื่อง (ร้อยละ 5.10) ร้องเรียนด้วยวาจา จํานวน 184 เรื่อง (ร้อยละ 1.77) เหตุอันควรสงสัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จํานวน 30 เรื่อง (ร้อยละ 0.29) และแจ้งเบาะแส จํานวน 9 เรื่อง (ร้อยละ 0.09) ตามลําดับ

ภายใต้ขั้นตอนของการกลั่นกรองและพิจารณา จากคำกล่าวหาทั้งสิ้น 10,382 เรื่อง สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเอง จํานวน 2,889 เรื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการแยกออกเลขเรื่องเพิ่มขึ้น จํานวน 396 เรื่องรวมเป็นคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. ดําเนินการเองจํานวนทั้งสิ้น 3,285 เรื่อง ส่งหน่วยงานภายนอก 3,488 เรื่อง รวมเป็น จํานวน 6,773 เรื่อง

จากคํากล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในภาพรวม พบว่า คํากล่าวหาส่วนใหญ่เป็นประเภทปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามหน้าที่ กระทําการเกินอํานาจหน้าที่โดยทุจริต และอนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ เป็นต้น จํานวน 2,541 เรื่อง (ร้อยละ 37.52) รองลงมาเป็นประเภทจัดซื้อจัดจ้าง จํานวน 1,674 (ร้อยละ 24.72) และ ประเภทยักยอก/เบียดบังเงินหรือทรัพย์สินของทางราชการ จํานวน 896 เรื่อง (ร้อยละ 13.23) ตามลําดับ

แม้ว่าคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเองในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีการแบ่งขนาดไว้เป็นขนาดเล็ก (S) ขนาดกลาง (M) ขนาดใหญ่ (L) และขนาดใหญ่มาก (XL) โดยการแบ่งขนาดคํากล่าวหาพิจารณาจาก

1) ตําแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา

2) จํานวนผู้ถูกกล่าวหา และ/หรือประเด็นข้อกล่าวหา

3) งบประมาณโครงการ/มูลค่าความเสียหาย/ผลกระทบต่อระบบ ราชการหรือสังคมส่วนรวม และ

4) ความยุ่งยากในการรวบรวมพยานหลักฐานหรือพยานบุคคล ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคํากล่าวหาขนาดกลาง (M) จํานวน 1,463 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 44.54 ของคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเองทั้งหมด (จํานวน 3,285 เรื่อง) รองลงมาเป็นขนาดเล็ก (S) จํานวน 1,183 เรื่อง (ร้อยละ 36.01) ขนาดใหญ่ (L) จํานวน 483 เรื่อง (ร้อยละ 14.70) และขนาดใหญ่มาก (XL) จํานวน 156 เรื่อง (ร้อยละ 4.75) ตามลําดับ

หากพิจารณามูลค่าที่เกี่ยวข้องจะพบว่า จากคํากล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเองจํานวน 3,285 เรื่อง เมื่อพิจารณาวงเงินงบประมาณของโครงการและจํานวนเงินที่มีการทุจริตตามคํากล่าวหา มีมูลค่ารวม 236,243,838,413 บาท หากจําแนกตามประเภทคํากล่าวหา พบว่า คํากล่าวหาประเภทจัดซื้อจัดจ้าง มีมูลค่ามากที่สุด จํานวน 207,060,914,215 บาท คิดเป็นร้อยละ 87.65 รองลงมาเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จํานวน 23,840,211,033 บาท (ร้อยละ 10.09) และการบริหารงานบุคคล (การบรรจุ/แต่งตั้ง/เลื่อนตําแหน่ง/โยกย้าย/ลงโทษวินัย) จํานวน 2,053,203,519 ล้านบาท (ร้อยละ 0.87) ตามลําดับ

หากวิเคราะห์จากตัวเลขคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. ดําเนินการเองจํานวนทั้งสิ้น 3,285 เรื่องนั้นสํานักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง มีคํากล่าวหา จํานวน 746 เรื่อง หรือกว่าร้อยละ 22 ของคำกล่าวหาที่ สํานักงาน ป.ป.ช. รับดำเนินการเองทั้งหมด ในแง่ประสิทธิภาพพิจารณาจากภาพรวม สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเฉลี่ยวันละ 10 เรื่อง โดยที่แต่ละเรื่องอาจมีความยากง่าย ในการสวบสวน ไต่สวน รวบรวมข้อมูลพอสมควร และค่าเฉลี่ยวันละ 10 เรื่องนั้น สํานักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลางรับผิดชอบมากกว่า 2 เรื่องต่อวัน ส่วนที่เหลือ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1-9 รับผิดชอบเฉลี่ยวันละ 1 เรื่องต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค

นี่คือตัวเลขเพียงปีงบประมาณ 2562 ปีเดียว

หากพิจารณาเรื่องคงค้างประกอบจะพบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สํานักงาน ป.ป.ช. มีเรื่องกล่าวหาคงค้างสะสม (ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2561) จํานวน 16,232 เรื่อง เรื่องกล่าวหารับใหม่ (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 -30 กันยายน 2562) จํานวน 3,285 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 19,517 เรื่อง ซึ่งได้ดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งสิ้น 5,893 เรื่อง หากคำนวณผลสำเร็จของการดำเนินการขั้นต้นจะพบว่า สํานักงาน ป.ป.ช. ดำเนินได้สำเร็จประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น

หากเราหยุดเวลา โดยใช้อัตราความสำเร็จนี้ หมายความว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี ในการดำเนินการเรื่องคงค้างทั้งหมดโดยไม่รับเรื่องใหม่เข้ามา หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นกว่าเท่าเพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งในกรณีหลังก็ยากที่จะเป็นไปได้

ดังนั้น หากจะกำหนดตัวชี้วัดหน่วยงาน สมควรพิจารณาอัตราการดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานของ สำนักงาน ป.ป.ช. หรือเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพหรือไม่ คำถามนี้สำคัญมากๆ ซึ่งต้องดูข้อมูลเพิ่มเติม คือ

เรื่องที่ดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งสิ้น 5,893 เรื่อง ถูกแบ่งออกเป็น (1) เรื่องกล่าวหาที่ดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้น จํานวน 5,470 เรื่อง และ (2) เรื่องกล่าวหาที่ดําเนินการเสร็จในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง จํานวน 423 เรื่อง ซึ่งเรื่องในกลุ่มแรกนั้น จาก 5,470 เรื่อง สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการต่ออีกใน กลุ่ม “รับไว้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง” จํานวน 726 เรื่อง

ข้อมูลนี้หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า ผลสำเร็จของการดำเนินการขั้นต้นที่คำนวณไว้ประมาณร้อยละ 30 นั้น “นับซ้ำ” และไม่ใช่อัตราผลสำเร็จที่แท้จริง เพราะเรื่อง 726 เรื่องนั้น ยังต้องดำเนินการต่อ ซึ่งความสำเร็จที่แท้จริงคือ 423 เรื่องที่ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จรวมกับเรื่องที่อยู่ในกลุ่ม 5,470 เรื่องหักด้วย 726 เรื่อง ซึ่งคิดเป็นอัตราความสำเร็จที่แท้จริง ร้อยละ 26.47 เท่านั้น

ตารางที่แนบมาร้อยละเรื่องคงค้างสะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่แม้ว่ามีแนวโน้มดีขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 5 ปี แต่ยังไกลจากเป้าหมายการปลอดคอร์รัปชั่น ที่สำคัญที่สุด ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีมาตราที่ไม่ให้ดำเนินการกับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นตำแหน่งไปแล้ว 5 ปี ซึ่งจะเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่จะทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับผิดชอบกับกรรมที่ตนและพวกได้ก่อไว้ แน่นอนว่า โดยถูกกฎหมาย ผู้อ่านสามารถสังเกตหรือตั้งคำถามกับรายการในปีงบประมาณ 2562 ในกรณี ไม่รับ/ไม่ยกขึ้นพิจารณา ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 2,106 เรื่อง หรือกว่าร้อยละ 40 ของเรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จ

ในท้ายที่สุดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ประสงค์ให้การปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม กำลังได้รับการพิสูจน์โดยแท้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top